การจัดการความขัดแย้งทางการเมืองไทย
ระหว่าง พ.ศ. 2547-2553
Conflict Management of Political Conflict
in Thailand between 2004- 2010
นักวิจัยอิสระ
สาขาวิชาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
บทคัดย่อ
การศึกษาเรื่อง “การจัดการความขัดแย้งทางการเมืองไทย ระหว่าง พ.ศ.
2547-2553” เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึกจากกลุ่มตัวอย่างผู้นำ
และผู้มีบทบาทสำคัญทางการเมือง นักวิชาการ และสื่อมวลชนโดย มีวัตถุประสงค์
เพื่อวิเคราะห์สภาพการก่อตัวและพัฒนาการของความขัดแย้งและ เพื่อศึกษาแนวทางการจัดการความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างปี
พ.ศ. 2547 -
2553
และวิสัยทัศน์เกี่ยวกับแนวทางการจัดการความขัดแย้งทางการเมืองในอนาคต ผลการวิจัยพบว่า
สาเหตุสำคัญของความขัดแย้ง เกิดขึ้นจาก ความต้องการอำนาจและผลประโยชน์ ส่วนประเภทความขัดแย้งพบว่า
มีในด้านผลประโยชน์มากที่สุด วิธีการในการจัดการความขัดแย้งที่คิดว่าเหมาะสมในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในปัจจุบันนั้นพบว่า
ต้องนำวิธีการหลายๆ วิธีมาบูรณาการ ส่วนด้านพฤติกรรมในการจัดการความขัดแย้งที่ผ่านมา
คือ การเอาชนะ ส่วนปัญหาในด้านความไว้วางใจในตัวบุคคลส่งผลกระทบมาก และแนวทางในการแก้ไขปัญหาพบว่า
นำสันติวิธีมาใช้ โดยยึดหลักของนิติธรรม นิติรัฐ หลักความยุติธรรม ความมีคุณธรรม
และจริยธรรม โดยความร่วมมือทั้งภาครัฐและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกๆ ฝ่าย
คำสำคัญ:
การจัดการความขัดแย้ง, ความขัดแย้งทางการเมือง
ABSTRACT
The study of "Conflict Management of Political
Conflict in Thailand between 2004-2010" is the qualitative research
proceeding by gathering information from in-depth interview with the
representative group of leaders and political influencers, academicians and
media. The objective is to analyze the formation and development of conflict
and to study the guideline of how to manage the political conflict between
2004-2010 as well as the vision of how to manage the political conflict in the
future. The research has shown that the major causes of conflict included the demand
for power and benefits,The study of type of political conflict has reflected
the most on benefits. At present, the well-suited methodology in managing
Thai's political conflict needs integration. However, the past behavior of
conflict management focused only on overcoming. Furthermore, the problem of
trust in individual has become a major impact. Thus, the solution is the use of
peace method by adopting rule of
law, rule by law, principle of justice, virtue and
morality by cooperation from the government and the relevant parties.
Key Words: conflict management, political conflict
บทนำ
ประเทศไทยได้เกิดภาวะวิกฤตการณ์ทางการเมือง
ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อประเทศชาติ และประชาชน พลเมืองไทย เป็นอย่างมาก
ทั้งผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านความแตกแยกแบ่งฝ่าย ของผู้คนในสังคม จนอาจนับได้ว่า
ประเทศไทย ขาดซึ่งความรัก ความสามัคคีในชาติ ทั้งทำให้ภาพลักษณ์ ของประเทศไทย
ในสังคมโลก เป็นประเทศที่ถูกมองว่าไม่มีความปลอดภัยในสวัสดิภาพ สำหรับสายตาของชาวโลก
และถูกลดลำดับความเชื่อมั่นในด้านความปลอดภัยความมั่นคง ภายในประเทศ ปรากฏการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง
ซึ่งก่อตัวขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2547 ในช่วงปลายรัฐบาลของ
พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร เมีการรวมตัวของกลุ่มคนในนามกลุ่มประชาชนเพื่อชาติและราชบัลลังก์
และพันธมิตรชุมชนและกลุ่มประชาชนเพื่อชาติศาสนาเพื่อขับไล่ พันตำรวจโท
ดร.ทักษิณ ชินวัตร ออกจากตำแหน่ง
โดยมีการรวมตัวเป็นครั้งแรกใน วันที่ 25 กันยายน พ.ศ.
2547
ความขัดแย้งดังกล่าวขยายวงกว้างขึ้นในช่วงปลาย พ.ศ. 2548 โดยมี นายสนธิ
ลิ้มทองกุล และรายการเมืองไทยรายสัปดาห์เป็นผู้เรียกร้องหลักให้
พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ
ชินวัตร ออกจากตำแหน่ง
ในขณะเดียวกันมีกลุ่มประชาชนจากต่างจังหวัดจำนวนมากได้รวมตัวกันเพื่อสนับสนุน
พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร
เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป
วิกฤตการณ์การเมืองในประเทศไทย พ.ศ. 2547-2553
คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีสาเหตุที่เริ่มต้นมาจากหลายฝ่าย
ซึ่งมีความเห็นว่า พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร ควรลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในขณะที่คนจำนวนมากอีกกลุ่มกลับให้ความสนับสนุน
พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร
และพันธมิตรอย่างล้นหลามด้วยความเชื่อมั่นว่า พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร
คือตัวแทนระบบทางการเมืองที่พึงปรารถนา
จากวิกฤตการณ์ดังกล่าวได้นำไปสู่เหตุการณ์รัฐประหาร พ.ศ. 2549 และนับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นด้วยรูปแบบและวิธีการต่างๆ
อย่างหลากหลายก่อให้เกิดผลเสียต่อประเทศชาติในหลายๆ ด้านอย่างคาดไม่ถึง
สถานการณ์ความขัดแย้งของมวลชนกลุ่มต่างๆ ด้วยกัน หรือความขัดแย้งที่เกิดกับฝ่ายรัฐบาลมักจะต้องมีนักการเมือง
หรือกลุ่มทางการเมืองเป็นผู้ให้การสนับสนุน หรือเป็นผู้นำมวลชนไปสู่ความขัดแย้ง
htpp://www.oknation.net/ทำให้วิกฤตการณ์ยังคงดำเนินมาจนถึง
พ.ศ.2553
ในการบริหารประเทศรัฐบาลของ นายอภิสิทธิ์
เวชชาชีวะ
พระไพศาล วิสาโล (2552) ได้กล่าวไว้ว่า
ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างคนต่างสีที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
มิใช่เป็นเพียงความขัดแย้งระหว่างบุคคล และดูจะมีนัยสำคัญมากกว่าการต่อสู้ระหว่าง
พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร
และพวกกับฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น หากความขัดแย้งดังกล่าว
เป็นเรื่องของการช่วงชิงผลประโยชน์ระหว่างชนชั้นนำทางการเมืองเท่านั้น
ย่อมมิอาจขยายวงไปอย่างกว้างขวางทั่วประเทศได้เลย การที่ผู้คนระดับรากหญ้าจำนวนนับแสน
ถือตัวเองว่าเป็นพวกเดียวกันกับกลุ่ม ของ
พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร
และกล้าท้าทายอำนาจรัฐ ย่อมมิใช่เพราะอำนาจเงินของ พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร เท่านั้น
หากยังเป็นการแสดงออกของประชาชนจำนวนมากที่ไม่พึงพอใจกับสภาพเศรษฐกิจการเมืองที่เป็นอยู่และเชื่อว่า
พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร
เป็นตัวแทนของระบอบการเมืองที่พึงปรารถนาของพวกเขา
ไม่ผิดหากจะกล่าวว่านี่เป็นความขัดแย้งระหว่างอุดมการณ์ต่างสี
ที่มองเห็นระบอบการเมืองที่พึงปรารถนาแตกต่างกัน โดยเฉพาะนิยามของประชาธิปไตยและความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างสถาบัน
และกลุ่มชนต่างๆ และสาเหตุสำคัญประการหนึ่ง
ที่ทำให้ผู้คนทั้งประเทศมองเป้าหมายทางการเมืองแตกต่างกันเป็นสองฝ่ายอย่างชัดเจนก็คือ
ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมระหว่างคนในชาติ จะเห็นได้ว่าการต่อสู้ทางการเมืองระยะนี้ แม้ว่าด้านหนึ่งจะเป็นการต่อสู้เพื่อช่วงชิงอำนาจและผลประโยชน์ทางการเมือง
แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่ามีการต่อสู้ในเชิงอุดมการณ์ทางการเมืองด้วยเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต (2552) ได้กล่าวว่า
ความขัดแย้งทางการเมืองครั้งนี้เกี่ยวพันอย่างแยกไม่ออกกับการต่อสู้ระหว่าง 5
อุดมการณ์ทางการเมืองหลักในสังคมไทยและกลุ่มที่สนับสนุนอุดมการณ์ทางการเมืองนั้นๆ
ได้แก่
1. อนุรักษ์นิยมใหม่ (Neo-Conservative)
มีความเชื่อว่า โลกาภิวัฒน์นำมาซึ่งความมั่งคั่ง
กำแพงภาษีระหว่างประเทศควรถูกกำจัด เปิดโอกาสให้ทุนไหลเวียนอย่างเสรี
และหลักคิดการบริหารธุรกิจภาคเอกชนเท่านั้นที่มีประสิทธิภาพ
กลุ่มการเมืองที่มีอุดมการณ์แบบนี้คือกลุ่มทุนใหม่ซึ่งมีทุนโทรคมนาคมเป็นแกนนำ
พรรคการเมืองที่กลุ่มผู้บริหารพรรคมีอุดมการณ์นี้คือ อดีตพรรคไทยรักไทย
ซึ่งกลายสภาพเป็นพรรคพลังประชาชนในเดือน สิงหาคม พ.ศ.
2550 อย่างไรก็ตามบุคคลที่มีอุดมการณ์เช่นนี้แทรกซึมอยู่แทบทุกพรรคการเมือง
แม้ว่าจะมีระดับความมากน้อยและความเข้มข้นในเชิงอุดมการณ์แตกต่างกันบ้าง
2. อุดมการณ์อุปถัมภ์นิยม (Clientelism) เป็นอุดมการณ์หลักที่ครอบงำสังคมการเมืองไทยมาอย่างยาวนาน ในระยะหลังความเข้มข้นของอุดมการณ์นี้ลดลงในกลุ่มชนชั้นกลาง
แต่ยังคงมีความเข้มข้นในกลุ่มชนชั้นชาวบ้าน และชนชั้นนำทางการเมือง
ชนชั้นนำทางการเมืองทั้งระดับชาติและท้องถิ่น
อาศัยอุดมการณ์อุปถัมภ์เป็นกลไกในการสร้างเครือข่ายหัวคะแนน
และจัดตั้งมวลชนในชนบทให ้มาสนับสนุนตนเอง
เมื่อเกิดกรณีการต่อสู้ทางการเมืองทั้งในเรื่องการเลือกตั้ง
และการชุมนุมประท้วง
อุดมการณ์นี้แทรกซึมอยู่ทุกพรรคการเมือง ทั้งพรรคใหญ่บ้าง
พรรคเล็กบ้าง แต่จะมีมากในพรรคที่ถูกจัดตั้งโดยกลุ่มอดีต
ส.ส.ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
3. อุดมการณ์อนุรักษ์นิยมดั้งเดิม (Traditional
Conservative) เชื่อในเรื่อง การรักษาสถานภาพเดิมของสังคม
เชิดชูความมั่นคงสถาบันหลักของสังคม กลุ่มที่ดำรงอุดมการณ์แบบนี้คือ กลุ่มทุนเก่า
เช่น ทุนการเงิน และอุตสาหกรรมหนักบางประเภท กลุ่มข้าราชการส่วนใหญ่ บางครั้งกลุ่มนี้ได้รับการเรียกว่า
เป็นกลุ่มอำมาตยาธิปไตย กลุ่มนี้มีบทบาทในการกำหนดนโยบายชี้นำสังคมไทยมายาวนาน
แต่บทบาทเริ่มลดลงเมื่อมีการปฏิรูปการเมืองใน พ.ศ.
2540 และในเวลาต่อมาได้ถูกสั่นคลอนอย่างหนักจากระบอบทักษิณ
ซึ่งนำพาอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมใหม่เข้ามาจัดการภายในระบบราชการ พรรคการเมืองที่มีแนวโน้มยึดถือในอุดมการณ์นี้คือ
พรรคชาติไทย และพรรคประชาราช เป็นต้น
4. อุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตย (Liberal
Democracy) มีความเชื่อพื้นฐานว่า เสรีภาพ
และความเป็นปัจเจกบุคคลเป็นสิ่งที่มีคุณค่าของมนุษย์
กลุ่มที่มีแนวคิดเช่นนี้คือกลุ่มชนชั้นกลางซึ่งประกอบด้วยพ่อค้า นักธุรกิจรายย่อย
ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจระดับกลาง พนักงานเอกชนระดับกลาง
และผู้ประกอบอาชีพอิสระทั้งหลาย
กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีการเติบโตเพิ่มมากขึ้นภายหลัง พ.ศ.
2540 และขยายตัวจนกลายเป็นพลังในการต่อต้านระบอบทักษิณ
พรรคการเมืองที่อาจถือได้ว่าเป็นตัวแทนของกลุ่มอุดมการณ์นี้
คือพรรคประชาธิปัตย์
5. อุดมการณ์การประชาสังคมประชาธิปไตย (Civil
Society Democracy) มีความเชื่อว่า
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนในทุกระดับเป็นสิ่งที่มีคุณค่าสำหรับสังคม
กลุ่มที่นำอุดมการณ์นี้ไปปฏิบัติการทางการเมืองคือ กลุ่มองค์การพัฒนาเอกชน
นักวิชาการ และนักการเมืองบางกลุ่ม
กลุ่มนี้มีความมุ่งหมายที่จะผลักดันให้สังคมเป็นสังคมแห่งการมีส่วนร่วม
โดยให้ประชาชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง
และสิ่งแวดล้อม ทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับชาติ
รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนพึ่งตนเอง
และสามารถบริหารจัดการชุมชนด้วยตนเองได้
ปัจจุบันยังไม่มีพรรคการเมืองใดที่ใช้อุดมการณ์นี้ไปปฏิบัติการทางการเมือง
ทั้งนี้
เกษียร เตชะพีระ (2552)
ได้ให้ข้อสังเกต เกี่ยวกับการเมืองไทยในรอบหลายปีที่ผ่านมาว่า สังคมควรต้องให้ความสนใจยิ่งต่อความขัดแย้งแบ่งขั้วในสังคมไทยว่าในที่สุด
จะนำไปสู่สถานการณ์รุนแรงถึงขั้นสูญเสียเลือดเนื้อและชีวิตหรือไม่
ความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา ได้ทำให้ประชาชนแตกแยกออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ
กลุ่มที่ศรัทธาในตัวคุณทักษิณ ชินวัตร
อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย จากนโยบายประชานิยมของรัฐบาลทักษิณ
และกลุ่มที่เห็นว่าคุณทักษิณเป็นภัยต่อประเทศชาติ จากการใช้อำนาจที่เกินขอบเขต
และข้อกล่าวหาในเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น
นำโดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
จนนำไปสู่การเดินขบวนประท้วงรัฐบาลทักษิณหลายครั้ง
และจบลงด้วยการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ด้วยเหตุผลสำคัญคือ ป้องกันไม่ให้ความแตกแยกขัดแย้งรุนแรง
จนนำไปสู่การนองเลือดในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเดือน ธันวาคม พ.ศ. 2550 พรรคพลังประชาชน หรือพรรคไทยรักไทยเดิม
ก็ได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้น และเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของ
นายสมัคร สุนทรเวช
ประชาชนทั่วไปก็เชื่อว่าความขัดแย้งที่ทุกฝ่ายเคยมีจะหาทางสมานฉันท์กันได้
ด้วยปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้า น่าจะทำให้ทุกฝ่ายละทิ้งความขัดแย้งทางการเมือง
หันหน้ามาแก้ปัญหาเศรษฐกิจก่อนเพื่อความอยู่รอดของประเทศชาติ
ดูเหมือนว่าทั้งสองฝ่ายจะพักรบ คุมเชิงกันชั่วคราว
แต่เพียงไม่กี่เดือนรอยร้าวก็เริ่มปรากฏให้เห็น
เมื่อผู้นำรัฐบาลใช้ท่าทีแข็งกร้าวกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับตน
มีการยึดกุมสื่อไว้ในมือ ย้ายข้าราชการชั้นสูงหลายตำแหน่ง
และโดยเฉพาะเมื่อพรรคพลังประชาชนประกาศว่าจะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550
ก็ได้กลายเป็นชนวนและตัวเร่งปฏิกิริยาให้การเผชิญหน้าของทั้งสองฝ่ายรุนแรงขึ้น
ต่างฝ่ายต่างแสดงความไม่เห็นด้วยกับอีกฝ่ายผ่านสื่อต่างๆ
โดยตั้งอยู่บนอคติโกรธเกลียดมากกว่าเหตุผล จนส่อเค้าว่าสถานการณ์อาจจะนำไปสู่ความรุนแรงอีกครั้งหนึ่ง
แม้แต่ผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองที่เคยออกมาเตือนสติสังคมไทยในเวลานี้ก็ไม่มีใครยอมฟังอีกต่อไป
สังคมไทยแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ดี
ท่ามกลางความแตกแยก และแบ่งกลุ่มอย่างรุนแรงดังกล่าว ก็ปรากฏว่ายังมีคนจำนวนไม่น้อยอีกกลุ่มหนึ่งที่เรียกร้องให้คนในสังคมใช้การเจรา
และหรือวิถีสันติภาพอื่นๆ ค่อยๆแก้ไขความขัดแย้งระหว่างกัน อาทิ
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)ได้มีการแถลงการณ์เรื่อง
ขอให้ทุกฝ่ายแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองด้วยวิถีทางประชาธิปไตย
และให้ทุกฝ่ายยุติการใช้ความรุนแรง
ซึ่งการยึดอำนาจอาจแก้ได้เพียงปัญหาเฉพาะหน้าแต่ไม่สามารถพัฒนาประชาธิปไตย
ประชาธิปไตยต้องพัฒนาโดยวิถีทางประชาธิปไตย
ความเป็นประชาธิปไตยต้องเกิดจากรากเหง้าของความเป็นชาติ
มีความรักความหวงแหนสิทธิเสรีภาพ รู้จักหน้าที่
และยอมรับความแตกต่างหลากหลายของวัฒนธรรม
การปลูกฝังบ่มเพาะประชาธิปไตยจึงต้องใช้เวลา ใช้การเรียนรู้
และรู้จักประยุกต์ในวิถีชีวิตประจำวัน (มนตรี แสนสุข, 2550) ส่วนการจัดการกับความขัดแย้งว่า สังคมต้องมีกรอบที่เป็นบรรทัดฐานร่วม หากต่างฝ่ายต่างเลือกกระทำสุดแท้แต่อารมณ์จะนำทาง ความขัดแย้งย่อมหาจุดลงตัวไม่ได้
การจัดการความขัดแย้งนี้อาศัยความคิดเห็นที่ตรงกันก่อนเป็นสำคัญ หากสมาชิกสังคมเข้าใจถูกต้องตรงตามกันย่อมจัดการความขัดแย้งให้ถูกทางไม่ยากนัก
และความขัดแย้งมิอาจมองจากปัจจัยภายนอกเป็นต้นว่า การแย่งชิงอำนาจทางการเมือง การจัดสรร
กระจายผลประโยชน์ไม่ลงตัวเพียงด้านเดียว แต่จะต้องลงลึกไปยังจิตวิญญาณมวลชน
(จิตวิทยา) อันเป็นมูลเหตุจากภายในของคู่ขัดแย้งเหล่านั้น
รากเหง้าของความชั่วร้าย คือ โลภ โทสะ โมหะ ที่ตกตะกอนในจิตใจมนุษย์เราอันเป็นต้นตอและภูมิหลังแห่งความขัดแย้ง
มีผลต่อความสัมพันธ์ของคู่ขัดแย้ง โดยแสดงออกเป็นความคิดและการกระทำ ชมพู
โกติรัมย์ (2552)
เมื่อพิจารณาความขัดแย้ง
และการแบ่งฝ่ายของคนในสังคมที่ไม่เคยมีมาก่อนในห้วงเวลาที่ผ่านมา
และดูจะยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น และส่งผลกระทบร้ายแรงต่อประเทศในด้านต่างๆ
ในวงกว้างระหว่างกลุ่มตัวแสดงหลักๆ งานวิจัยเรื่องนี้จึงเกิดขึ้น
เพื่อวิเคราะห์ความขัดแย้งทางการเมือง ในช่วงปี พ.ศ. 2547 -
2553 รวมทั้งเสนอทางออกเพื่อยุติความขัดแย้ง
เพื่อนำไปสู่การสร้างสังคมแห่งสันติสุข ทั้งนี้โดยผู้วิจัยจะทำการศึกษาในประเด็นของสาเหตุ
วิธีการ และรูปแบบ ของความขัดแย้งที่นำมาใช้ในการจัดการความขัดแย้ง
โดยมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้โดยคาดว่าประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับคือผลที่ได้จากการศึกษาจะนำมาสู่การสั่งสมความรู้เชิงวิชาการเพิ่มขึ้นด้านการก่อตัวและพัฒนาการการจัดการความขัดแย้งทางการเมือง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของประเทศไทย
รวมถึงความรู้ที่ได้จะสามารถใช้เป็นแนวทางการจัดการความขัดแย้งทางการเมือง
เพื่อสังคมไทยไปสู่เป้าหมายการเป็นสังคมสันติสุขอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
ทฤษฎีสำคัญที่นำมาใช้ในการวิจัย
ได้แก่ วงกลมความขัดแย้งของ Christopher Moore
และทฤษฏีพฤติกรรมการจัดการความขัดแย้งของ
Thomas Kenneth
ที่มา:
วันชัย วัฒนศัพท์ (2550)
ประเภทของความขัดแย้งตามแนวทางของ Moore ว่าสามารถแบ่งออกเป็น 5 ชนิด ได้แก่ (วันชัย
วัฒนศัพท์ ,2550)
1.
ความขัดแย้งด้านข้อมูล (Data
Conflict)
2.
ความขัดแย้งจากผลประโยชน์
(Interests Conflict)
3.
ความขัดแย้งด้านโครงสร้าง (Structural
Conflict)
4.
ความขัดแย้งด้านความสัมพันธ์ (Relationship
Conflict)
5.
ความขัดแย้งด้านค่านิยม (Values
Conflict)
สำนักระงับข้อพิพาท (2550) กล่าวถึงวิธีการจัดการกับความขัดแย้ง
ไว้ดังนี้ คือ
1. การหลีกเลี่ยง หรือหนีปัญหา (Avoidance)
2. การเจรจาต่อรอง (Negotiation)
3.
การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ( Mediation)
4. อนุญาโตตุลาการ
(Arbitration)
5. การฟ้องร้อง (Litigation)
6. การเผชิญหน้าและประท้วงอย่างสันติ
(Non-Violence Confrontation)
7. การใช้บังคับ (Forcing)
วอร์เชล (Worechel, 1979) ได้กล่าวถึงมุมมองของความไว้วางใจ
ไว้ดังนี้
1.
เป็นมุมมองของทฤษฎีที่ดูเรื่องบุคลิกภาพ
ซึ่งพุ่งเป้าหมายไปที่บุคลิกลักษณะส่วนบุคคลที่แตกต่างกันในความพร้อมที่จะไว้วางใจ
และปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมด้านสังคม ที่นำไปสู่ความพร้อม
2.
เป็นมุมมองของนักสังคมวิทยาและนักเศรษฐศาสตร์
ซึ่งพุ่งประเด็นไปที่ความไว้วางใจในลักษณะของปรากฏการณ์ของสถาบัน
3.
เป็นมุมมองของนักจิตวิทยาสังคม
ซึ่งพุ่งความสนใจไปสู่การติดต่อหรือการดำเนินการระดับบุคคลระหว่างปัจเจกที่อาจสร้าง
หรือทำลายความไว้วางใจในทั้งระดับระหว่างบุคคล และระหว่างกลุ่ม
ทฤษฏีของ Thomas
Kenneth ที่ได้จำแนกพฤติกรรมของบุคคลที่แสดงออกเมื่อเผชิญกับความขัดแย้ง
( เสริมศักดิ์ วิศาลาภรณ์ ,2540)
1.
การเอาชนะ (Competition)
2.
การร่วมมือ (Collaboration)
3.
การประนีประนอม (Compromising)
4.
การหลีกเลี่ยง (Avoiding)
5.
การยอมให้ (Accommodation)
ระเบียบวิธีวิจัย
การวิจัยเรื่อง “การจัดการความขัดแย้งทางการเมืองไทย
ระหว่าง พ.ศ. 2547 - 2553”
การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ
ทั้งนี้การวิจัยเชิงคุณภาพเป็นการวิจัยที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ที่เป็นธรรมชาติ
เพื่อเข้าถึงความหมายในบริบทที่ศึกษา
โดยใช้ตัวผู้วิจัยเองเป็นเครื่องมือสำคัญในการเก็บข้อมูล (ชาย โพธิสิตา, 2550) เพื่อดูว่าข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ได้จากการศึกษา
สอดคล้องกับข้อมูลเชิงทฤษฎีเพียงใด และเพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกและครอบคลุม
เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปที่มีความถูกชัดเจนมากยิ่งขึ้น (อาริชย์ ทัศน์พันธุ์,
2550) นอกจากนี้ ผู้วิจัยได้ศึกษาค้นคว้าข้อมูลจากเอกสาร
และได้มีการนำมาวิเคราะห์ ซึ่งมีขั้นตอนในการดำเนินการศึกษาวิจัยดังนี้
1. การค้นคว้าจากเอกสารโดยศึกษาในหัวข้อ
เหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในช่วง
พ .ศ. 2547-2553
2. การสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้นำทางการเมือง
และผู้ที่มีบทบาทสำคัญทางการเมือง กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ เป็นผู้นำทางการเมือง
และผู้ที่มีบทบาทสำคัญทางการเมือง
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มนักวิชาการ กลุ่มผู้มีประสบการณ์ทางการเมือง และ สื่อมวลชน
วิธีการเก็บข้อมูล
ผู้วิจัยเป็นผู้เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยตนเองโดยเข้าพบผู้สัมภาษณ์
ได้บันทึกเทประหว่างการสัมภาษณ์และถ่ายภาพประกอบการสัมภาษณ์
ขอบเขตการวิจัย
ในการศึกษาการจัดการความขัดแย้งทางการเมืองไทย
ระหว่างปี พ.ศ. 2547 - 2553
ได้ศึกษาในขอบเขตดังต่อไปนี้คือ
ศึกษาเกี่ยวกับสภาพปัญหา และแนวทางการจัดการความขัดแย้งวิกฤตการณ์เมืองไทย ตั้งแต่
พ.ศ. 2547 –
2553
ผลการวิจัยและข้อวิจารณ์
จากการศึกษาเรื่อง “การจัดการความขัดแย้งทางการเมืองไทย ระหว่าง พ.ศ. 2547-2553”ผลการวิจัยพบว่า
1. สาเหตุสำคัญของความขัดแย้งทางการเมืองไทยที่เกิดขึ้นในระหว่าง
พ.ศ. 2547 -2553 เกิดขึ้นจากการต้องการอำนาจทางการเมืองเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ของโดยเกี่ยวข้องกับเรื่องคอรัปชั่นของนักการเมือง
แล้วได้ขยายไปสู่ประเด็นทางการเมืองภาคประชาชนที่ทำให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงในสังคม
โดยแยกเป็นประเด็นที่สำคัญดังนี้
1.1.ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นมาจากสาเหตุจากของความต้องการอำนาจทางการเมือง
1.2.ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นมาจากสาเหตุจากของการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองของฝ่ายการเมืองต่างๆ
1.3.ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นมาจากสาเหตุจากของความต้องการผลประโยชน์
1.4.ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นมาจากสาเหตุจากการคอรัปชั่น
1.5.ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นมาจากสาเหตุของความไม่เท่าเทียมกันในสังคม
1.6.ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นมาจากสาเหตุมาจากการรับรู้ข่าวสารที่ไม่ตรงกัน
ของประชาชน
1.7.ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นมาจากสาเหตุมาจากการบริหารรัฐ
1.8.ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นมาจากสาเหตุมาจากการทำรัฐประหาร
เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.
2549
1.9.ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นมาจากสาเหตุมาจากการนำสถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาเกี่ยวข้องทางการเมือง
1.10. ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นมาจากสาเหตุมาจากปัญหาระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชา
เรื่องประสาทเขาวิหาร นำมาเป็นประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศ
โดยทั้ง 10 ข้อที่กล่าวมาข้างต้น ส่วนใหญ่นั้น เป็นสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นมาแล้วตั้งแต่ประเทศไทยเริ่มต้นการนำระบอบประชาธิปไตยมาใช้ในการปกครองประเทศ
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 เริ่มจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมาจากสาเหตุจากของความต้องการอำนาจทางการเมืองในข้อ
1.1. นำไปสู่ ข้อ 1.2.
ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมาจากสาเหตุจากของการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองของฝ่ายการเมืองต่างๆ
เนื่องจากการเข้าสู่อำนาจเป็นขั้นตอนแรกที่มีความสำคัญ
ในการที่จะทำให้ผู้หนึ่งผู้ใดก้าวขึ้นสู่อำนจทางการเมือง
หลังจากการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองได้แล้ว
ก็นำไปสู่เรื่องของผลปรโยชน์ ดังในข้อ1.3. ที่พบว่าความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นมาจากสาเหตุจากของความต้องการผลประโยชน์
โดยผลประโยชน์ส่วนใหญ่มักได้มาจากการ คอรัปชั่น
จึงทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นมาจากสาเหตุจากการคอรัปชั่นในข้อ 1.4.
เป็นประเด็นที่มีการกล่าวถึงเป็นอย่างมากในทุกๆรัฐบาล
นอกจากนี้ในข้อที่ 1.5. ที่กล่าวถึงความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นมาจากสาเหตุของความไม่เท่าเทียมกันในสังคม
ในหลายๆด้าน ซึ่งทั้งในด้านของเศษฐกิจ ด้านอำนาจ ด้านการศึกษา
และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการเข้าถึงข้อมูล ซึ่งปัจจุบันเป็นยุคของข้อมูลข่าวสาร เมื่อประชาชนรับรู้ข้อมูลที่หลากหลาย
ก็ย่อมทำให้เกิดแนวความคิดเห็นที่แตกต่างโดยเฉพาะทางการเมือง
อันเป็นประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งซึ่งอาจนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นมาจากสาเหตุมาจากการรับรู้ข่าวสารที่ไม่ตรงกันของประชาชน
ดังในข้อที่ 1.6.
นอกจากนี้ไม่ว่าจะเป็นประเด็นที่มีความเกี่ยวเนื่องกัน
เช่น ประเด็นของการทำรัฐประหารโดยทหารนั้น
นับได้ว่าเป็นประเด็นที่ทำให้เกิดความรุนแรงขึ้นในหลายยุคหลายสมัย
เมื่อเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในระหว่าง พ.ศ. 2547-2553 นั้น จะเห็นได้ว่า ในข้อ 1.8. ที่กล่าวถึงความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นมาจากสาเหตุการทำรัฐประหาร
เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.
2549 มีความเกี่ยวเนื่องมาจากประเด็นสำคัญ ในข้อที่ 1.7. คือ ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นมาจากสาเหตุการบริหารรัฐ และข้อ 1.9.
คือ ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นมาจากสาเหตุการนำสถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาเกี่ยวข้องทางการเมือง
ซึ่งทำให้เกิดความขัดแย้งของประชาชน ได้แยกออกเป็นหลายฝ่าย
จนเกิดความขัดแย้งลุกลามขึ้น จนกระทั่งถูกมองว่า ความขัดแย้งทางการเมืองในครั้งนี้
เรียกได้ว่า เข้าสู่ขั้นวิกฤติ
2.รูปแบบความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้น
พบว่ามีในด้านผลประโยชน์มากที่สุด จาก ทั้ง 5 รูปแบบ คือ ความขัดแย้งด้านข้อมูล
(Data Conflict) ความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ (Interest
Conflict) ความขัดแย้งด้านโครงสร้าง (Structural Conflict) ความขัดแย้งด้านความสัมพันธ์ (Relationship
Conflict) ความขัดแย้งด้านค่านิยม
(Values Conflict) จาก ทั้ง 5 รูปแบบ
โดยส่งผลมาจากความขัดแย้งด้านโครงสร้างทางสังคมที่มีความแตกต่างกัน
ระหว่างกลุ่มที่เป็นผู้ที่ใช้แรงงาน กลุ่มชนชั้นกลาง และ กลุ่มชนชั้นสูง
และในส่วนของด้านค่านิยม ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งซึ่งแต่ละกลุ่มนำมาเป็นชนวนทำให้เกิดความรุนแรงคือ
ประเด็นเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่วนความขัดแย้งในด้านอื่นๆ
ก็เป็นรูปแบบของความขัดแย้งที่น้อยกว่าด้านผลประโยชน์และด้านโครงสร้างคือความขัดแย้งในด้านข้อมูลและด้านความสัมพันธ์
ซึ่งใน ทฤษฎีของ Mooe
นั้นความขัดแย้งด้านผลประโยชน์
สามารถแก้ไขได้หากการจัดสรรผลประโยชน์ได้ลงตัว แต่ในกรณีนี้
ความขัดแย้งมีรูปแบบซับซ้อนหลายมิติ ไม่ไช่เพียงด้านใดด้านหนึ่ง ทั้งนี้โดยเฉพาะความขัดแย้งในด้านโครงสร้างทางสังคมและความขัดแย้งทางค่านิยมนั้น
จะดำเนินการจัดการความขัดแย้งได้ยาก
แต่ความขัดแย้งส่วนใหญ่เป็นไปในรูปแบบ ด้านผลประโยชน์ ซึ่งสอดคล้องกับ งานวิจัยของนพดล
สุคนธวิท (2539 ) ได้วิจัยเรื่องพรรคการเมืองไทยกับการเมืองท้องถิ่น
: ผลประโยชน์และฐานอำนาจ ผลการศึกษาพบว่า การเมืองท้องถิ่นถือเป็นแหล่งทรัพยากรทางการเมืองที่สำคัญสำหรับพรรคการเมืองที่จะต้องแสวงหาและครอบครอง
เพื่อเข้าสู่อำนาจทางการเมือง อันนำมาซึ่งอิทธิพลและผลประโยชน์
3. วิธีการในการจัดการความขัดแย้งที่คิดว่าเหมาะสมในการแก้ปัญหาความขัดแย้งของการเมืองไทยในปัจจุบันนั้น
พบว่าต้องนำวิธีการหลายๆวิธี ออกมาใช้ เพราะทั้งการเจรจา ทั้งการใช้กฎหมาย
เช่นการออก พรก ฉุกเฉินของทุกรัฐบาลในขณะนั้น
แม้กระทั่งมีผู้ที่พยายามจะไกล่เกลี่ย โดยทำตัวเป็นคนกลางเพื่อประสานความสัมพันธ์
เช่น พลตรีสนั่น ขจรประศาสตร์ ออกมา ไกล่เกลี่ย ปรองดองทางการเมือง
แต่ก็ยังไม่เป็นผลสำเร็จ เนื่องจาก
ความขัดแย้งในครั้งนี้เป็นความขัดแย้งที่เกิด ขึ้นในระดับประเทศไม่ไช่เพียงความขัดแย้งของกลุ่มฝ่ายผู้บริหาร
และนักการเมืองเท่านั้น แต่ความขัดแย้งได้ลุกลามในทุกๆสังคมของประเทศ
แม้แต่ประชาชนเองก็ยังได้แตกออกเป็นฝ่ายต่างๆ ทั้งนี้สอดคล้องกับงานวิจัยของ อัญชลี
จุฬาพิมพ์พันธุ์ (2546)
เรื่อง การบริหารความขัดแย้งในประเด็นต่าง
ๆ ของชุมชนที่นำไปสู่การพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชน ซึ่งพบว่า
การบริหารความขัดแย้งผ่านกระบวนการเสียงข้างมาก ( Majority ruler) เสียงข้างมากเป็นปัจจัยสำคัญของการจัดการกับอำนาจในการบริหารความขัดแย้ง
ด้วยการอ้างอิง ผลประโยชน์ของคนกลุ่มใหญ่
ดังนั้น วิธีการจัดการความขัดแย้งที่คิดว่าเหมาะสมในการแก้ปัญหาความขัดแย้งของการเมืองไทยอาจต้องใช้ความหลากหลายทางวิธีการหรือทำการบูรณาการ
ให้เหมาะสมกับ สภาวะปัจจุบัน
4.
พฤติกรรมในการจัดการความขัดแย้งที่ผ่านมา ทั้ง 5 ด้าน คือ การเอาชนะ
(Competition)
การร่วมมือ (Collaboration) การประนีประนอม (Compromising) การหลีกเลี่ยง (Avoiding)
และการยอมให้
(Accommodation) พบว่าส่วนใหญ่ลักษณะพฤติกรรมเป็นรูปแบบการเอาชนะกันของฝ่ายต่างๆ
ส่วนรูปแบบการประนีประนอม ไม่สามารถจะนำมาใช้ได้
ในด้านของรูปแบบการยอมให้บ้างในบางกรณีซึ่งเป็นส่วนน้อย จึงส่งผลให้ความขัดแย้งได้ขยายตัวลุกลาม
จนกระทั่งถึง พ.ศ. 2553 ก็ยังไม่มีใคร หรือฝ่ายใด ที่สามารถเข้ามาดำเนินการจัดการความขัดแย้งทางการเมืองไทย
ให้เกิดผลสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากผู้ที่เข้ามามีบทบาทในการจัดการความขัดแย้งทางการเมืองในครั้งนี้
เป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงและเป็นคู่กรณีกันเป็นส่วนใหญ่
ทำให้ยากต่อการที่จะดำเนินการใดๆเพื่อยุติความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้ ดังนั้นหากผู้ที่ส่วนเกี่ยวข้องมีท่าทีที่
เปลี่ยนไปเป็นการประนีประนอมก็อาจนำไปสู่จุดเริ่มต้นของการทำให้ประเทศกลับเข้าสู่สังคมแห่งความสามัคคีของคนในชาติ
ได้เป็นอย่างดี
5.ปัญหาในด้านความไว้วางใจในตัวบุคคล
ส่งผลกระทบมาก ทำให้แต่ละฝ่ายไม่สามารถเจรจากันได้ ความขัดแย้งจึงได้ขยายตัวลุกลาม
จนทำให้ไม่สามารถนำวิธีการเดิมที่เคยใช้แก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองไทยในอดีตที่ผ่านมา
ปัญหาความขัดแย้งจึงยังคงอยู่ ซึ่งในปัจจุบันผู้ที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ว่าผู้ที่ส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างใกล้ชิด
หรือแม้แต่ประชาชนทั่วไปเองก็ตาม ขาดการไว้วางใจซึ่งกันและกัน
เกิดความหวาดระแวงทางการเมือง แบ่งพวกเขา พวกเรา จนทำให้สังคมในปัจจุบัน
ไม่สามารถแก้ไขความขัดแย้ง และดึงความเชื่อใจซึ่งกันและกัน ทำให้ประเทศไทย
เกิดสภาพสูญญากาศทางความเป็นเอกภาพของความเป็นไทย เพราะทุกวันนี้
ได้มีการแบ่งคนของสังคมเป็นฝ่ายต่างๆ โดยอาจลืมไปได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดก็ตาม
อยู่ภายใต้ ไตรรงค์ไทยนั้น ก็ล้วนเป็นคนไทยด้วยกันทั้งสิ้น
ซึ่งการแก้ปัญหาความไว้วางใจทางการเมืองได้นั้น จะทำให้ นำวิธีการแก้ปัญหา
ไม่ว่าจะเป็นการเจรจา หรือการไกล่เกลี่ย เป็นไปได้ง่ายขึ้น
และมีโอกาสที่สามารถที่จะประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างมาก สอดคล้องกับทรงศักดิ์
วุฒิคะ วิจัยเรื่อง
ความรับผิดชอบร่วมกันของรัฐมนตรีในทางการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
พ.ศ.2521 พบว่า
ความรับผิดชอบร่วมกันของรัฐมนตรีในทางพฤตินัย จึงหมายถึง
ความไว้วางใจที่นายกรัฐมนตรีมอบให้แก่รัฐมนตรีทุกคน แต่ในขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรี
ก็ได้รับมอบหมายความไว้วางใจมาอีกทอดหนึ่งจาก 3 สถาบัน คือ
คณะทหารในฐานะตัวแทนของระบบราชการ พรรคการเมืองที่เข้าร่วมรัฐบาล
และพระมหากษัตริย์ จึงทำให้ความรับผิดชอบร่วมกันของรัฐมนตรีในทางพฤตินัยนี้
เป็นสิ่งกำหนดหลักความรับผิดชอบร่วมกันของรัฐมนตรี
ที่ปรากฎในรัฐธรรมนูญอีกขั้นหนึ่ง และ ชิตพล กาญจนกิจ (2545) ที่ได้วิจัยเรื่อง
ความไว้วางใจทางการเมืองและการมีส่วนร่วมทางการเมืองในการเมืองท้องถิ่นไทย
: ศึกษากรณีองค์การบริหารส่วนตำบล
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความไว้วางใจทางการเมืองและการมีส่วนร่วมทางการเมืองในระดับการเมืองท้องถิ่นไทย ผลการศึกษาพบว่า ที่ระดับนัยสำคัญ .05 ตัวแปรที่ส่งอิทธิพลทางตรงต่อความไว้วางใจทางการเมือง ได้แก่
ตัวแปรทุนทางสังคม (0.148) และตัวแปรการมีส่วนร่วมทางการเมือง
6. แนวทางในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองไทยในปัจจุบัน พบว่า
การนำสันติวิธีมาใช้ โดยยึดหลักของ หลักนิติธรรม หลักนิติรัฐ หลักคุณธรรม จริยธรรม
และการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง
ซึ่งทั้งนี้ก็คือแนวทางของหลักประชาธิปไตย ทั้งสิ้น ซึ่งจากงานวิจัยของฐิฏินันท์
ธรรมโชติ (2542) เรื่อง
ประมวลจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตย ได้นำแนวคิดมาตรฐานจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของต่างประเทศ
และจริยธรรมของวิชาชีพต่าง ๆ ในประเทศมาศึกษาถึงความเป็นไปได้และความเหมาะสม
ในการจัดให้มีประมวลจริยธรรมสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
พร้อมทั้งหารูปแบบขององค์กรที่จะเข้ามาควบคุมดูแลผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้ปฏิบัติตามประมวลจริยธรรม
เพราะถือว่าผู้มีตำแหน่งทางการเมืองต้องเป็นแบบอย่างที่ดีของประชาชนทั้งประเทศ
ฉะนั้นควรที่จะเป็นบุคคลที่พร้อมไปด้วยคุณธรรมและจริยธรรม
อันจะส่งผลต่อการพัฒนาทางการเมืองและช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อีก ระดับหนึ่ง เพื่อให้สอดคล้องตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
สรุป
สรุปผลการวิจัย ได้ว่า
1.
สาเหตุของความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้น
พบว่ามีสาเหตุสำคัญจากการต้องการอำนาจทางการเมืองเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์โดยเกี่ยวข้องกับเรื่องคอรัปชั่น
ของนักการเมือง มีการทุจริตเพื่อให้บรรลุการเข้าสู่อำนาจและเมื่อมีอำนาจก็นำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้องในหลายๆกรณี
นอกจากนี้ ยังมีสาเหตของปัญหาความไม่เท่าเทียมในสังคม
และประเด็นทีมีความอ่อนไหวทางความรู้สึกของประชาชนคือการนำสถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาเกี่ยวข้องทางการเมือง
ซึ่งจากปัญหาเหล่านี้ได้ขยายไปสู่ประเด็นทางการเมืองภาคประชาชนที่ทำให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงในสังคม
2.
รูปแบบความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นมากที่สุด พบว่า
มีในด้านรูปแบบของผลประโยชน์มากที่สุด
โดยส่งผลมาจากความขัดแย้งด้านโครงสร้างทางสังคมที่มีความแตกต่างกัน
ระหว่างกลุ่มที่เป็นผู้ที่ใช้แรงงาน กลุ่มชนชั้นกลาง และ กลุ่มชนชั้นสูง
และในส่วนของด้านค่านิยม
ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งซึ่งแต่ละกลุ่มนำมาเป็นชนวนทำให้เกิดความรุนแรงคือ
ประเด็นเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่วนความขัดแย้งในด้านอื่นๆ
ก็ยังไม่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนคือความขัดแย้งในด้านข้อมูลและด้านความสัมพันธ์
เนื่องจากปัญหาด้านความสัมพันธ์อาจแก้ไขได้ง่ายจากการประสานผลประโยชน์ที่ลงตัว
3.
วิธีการในการจัดการความขัดแย้งที่คิดว่าเหมาะสมในการแก้ปัญหาความขัดแย้งของการเมืองไทยในปัจจุบัน
พบว่า มีการนำวิธีการหลายๆวิธี ออกมาใช้ ทั้งการเจรจา ทั้งการใช้กฎหมาย เช่นการออก
พรก ฉุกเฉินของทุกรัฐบาลในขณะนั้น แม้กระทั่งมีผู้ที่พยายามจะไกล่เกลี่ย
แต่ก็ยังไม่เป็นผลสำเร็จ
4.
พฤติกรรมในการจัดการความขัดแย้งที่ผ่านมา
พบว่ามีลักษณะพฤติกรรมเป็นรูปแบบการเอาชนะ
กันของฝ่ายต่างๆส่วนรูปแบบการประนีประนอม ไม่สามารถจะนำมาใช้ได้
ในด้านของรูปแบบการยอมให้ บ้างในบางกรณี
จึงส่งผลให้ความขัดแย้งจึงได้ขยายตัวลุกลาม จนกระทั่งถึง พ.ศ. 2553 ก็ยังไม่มีใคร หรือฝ่ายใด
ที่สามารถเข้ามาดำเนินการจัดการความขัดแย้งทางการเมืองไทย
ให้เกิดผลสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพ
5.
ปัญหาในด้านความไว้วางใจในตัวบุคคล พบว่าส่งผลกระทบมาก
ผลกระทบที่ตามมาคือทำให้แต่ละฝ่ายไม่สามารถเจรจากันได้
ความขัดแย้งจึงได้ขยายตัวลุกลาม
จนทำให้ไม่สามารถนำวิธีการเดิมที่เคยใช้แก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองไทยในอดีตที่ผ่านมา
ปัญหาความขัดแย้งจึงยังคงอยู่
6. แนวทางในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน
พบว่า การนำสันติวิธีมาใช้ โดยยึดหลักของ นิติธรรม และนิติรัฐ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องคำนึงถึง หลักความยุติธรรม ความมีคุณธรรม
และจริยธรรมของผู้ที่มีอำนาจที่จะดำเนินการแก้ไขด้วยจึงจะทำให้การจัดการความขัดแย้งทางการเมืองไทย
ระหว่าง พ.ศ. 2547 - พ.ศ. 2553 ประสบผลสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เพื่อสันติภาพที่จะเกิดขึ้นอย่างยั่งยืน
กิตติกรรมประกาศ
งานวิจัยฉบับนี้สำเร็จได้ด้วยความกรุณาอย่างสูงยิ่ง ของผู้ทรงคุณวุฒิทางการเมืองในด้านต่างๆ
ผู้ที่เห็นคุณค่าของการจัดการความขัดแย้งของประเทศไทยในสภาวะวิกฤติ
ซึ่งนับได้ว่าเป็นการเสียสละอันยิ่งใหญ่ในการให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์อย่างมหาศาล
โดยสละเวลาอันมีค่าของท่านในการให้ข้อมูล
และแสดงความคิดเห็นอันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศชาติทั้งในปัจจุบันและอนาคตสืบต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งทั้ง 19 ท่าน คือ คุณเกษม
วิศวพลานนท์ คุณดุษฎี พนมยงค์ บุญทัศนกุล
Mr.Jack Dunford พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ พลเอก สนธิ บุญรัตกลิน คุณสนธิ ลิ้มทองกุล คุณจตุพร พรหมพันธุ์ พลเอก เอกชัย ศรีวิลาส พลตำรวจเอก วิสุทธิ์ กิตติวัฒน์
คุณยุวรัตน์ กมเวชช ศาสตราจารย์ ดร.ลิขิต ธีรเวคิน ศาสตราจารย์ นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ ศาสตราจารย์ ดร.ปิยนาถ บุนนาค คุณบุญเลิศ คชายุทธเดช (ช้างใหญ่) คุณวีรบุรุษ อินทรคำแหง คุณชัชวาล ชาติสุทธิชัย ดร.สมัคร เจียมบุรเศรษฐ์ รองศาสตราจารย์ ดร.โภคิน พลกุล และพันเอกดร.อภิวันท์ วิริยะชัย
ผู้วิจัยต้องขอกราบขอบพระคุณทุกท่านดังรายนามที่กล่าวข้างต้นเป็นอย่างสูง
ขอขอบพระคุณคุณ รศ.ดร.นิตยา เงินประเสริฐศรี ที่กรุณาให้คำแนะนำ และขอขอบพะคุณ
ผศ.ดร.ธวัชชัย สุวรรณพานิช ที่กรุณาช่วยตรวจสอบในด้านของกฎหมาย
และผศ.ดร.พร้อมพิไล บัวสุวรรณ ผศ.ดร.สุดารัตน์ สารสว่าง ดร.วาสิตา บุญสาธร ดร.ณัฐวีร์ บุนนาค และอาจารย์ศุภนัฐ
เพิ่มพูนวิวัฒน์ ที่ให้กำลังใจเสมอมา และขออุทิศคุณประโยชน์ที่เกิดจากงานวิจัยนี้
มอบแด่ ดวงวิญญาณของบรรพบุรุษแห่งแผ่นดินไทย ผู้สร้างชาติบ้านเมือง และวีรบุรุษที่ปกป้องประเทศไทยให้คงไว้ซึ่งเอกราช
รวมถึงวีรชนผู้ล่วงลับจากเหตการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในทุกๆ เหตุการณ์ที่ผ่านมา
นอกจากนี้คุณค่า และประโยชน์อันพึงมีซึ่งมาจากงานวิจัยนี้ ขอมอบแด่ผู้มีพระคุณทุกๆ
ท่าน รวมถึงประชาชนคนไทยทุกคน ไม่ว่าจะอยู่บนผืนแผ่นดินไทย หรือไม่ว่าอยู่บนพื้นแผ่นดินใดในโลกแห่งนี้ก็ตาม
พิชญา สุกใส
พฤศจิกายน 2554
เอกสารอ้างอิง
เกษียร เตชะพีระ. (2550). เราจะฝ่าความขัดแย้งทางการเมืองไปได้อย่างไร .เข้าถึงเมื่อ 1
สิงหาคม 2552 , จากhttp://tuktadevil.multiply.com/journal/item/9,.
ชมพู
โกติรัมย์. (2552). ศาสตร์ว่าด้วยการระงับความขัดแย้ง . เข้าถึงเมื่อ 1 สิงหาคม 2552 ,
จาก http://www.thaipost.net/news/060409/2866,.
ชาย โพสิตา. (2550). ศาสตร์และศิลป์แห่งการวิจัยเชิงคุณภาพ.
พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพ: ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์
มหาวิทยาลัย
ชิตพล กาญจนกิจ. (2545). ความไว้วางใจทางการเมืองและการมีส่วนร่วมทางการเมืองในการเมืองท้องถิ่นไทย:
ศึกษา
กรณี องค์การบริหารส่วนตำบล. วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขารัฐศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ฐิฏินันท์ ธรรมโชติ.
(2542). ประมวลจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง.
วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต
สาขารัฐศาสตร์,มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
ทรงศักดิ์
ทรงศักดิ์ วุฒิคะโร. (2531). ความรับผิดชอบร่วมกันของรัฐมนตรีในทางการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
พ.ศ. 2521. วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
นพดล สุคนธวิท. (2539). พรรคการเมืองไทยกับการเมืองท้องถิ่น:
ผลประโยชน์และฐานอำนาจ.
วิทยานิพนธ์ฃ
รัฐศาสตรมหาบัณฑิต
คณะรัฐศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
มนตรี แสนสุข. (2550).
ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์. พิมพ์ครั้งที่ 1.
กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ อนิเมทกรุ๊ป
พระไพศาล วิสาโล. (2552).
ปัญหาท้าทายและทางออกของสังคมไทย. เข้าถึงเมื่อ 1 สิงหาคม
พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต. (2552).
อนาคตการเมืองไทยท่ามกลางความขัดแย้ง เข้าถึงเมื่อ
1 สิงหาคม 2552 , จาก
http://www.meeboard.com/view.asp?user=liwliw&groupid=2&rid=31&qid=5,
วันชัย วัฒนศัพท์. (2550). ความขัดแย้ง: หลักการและเครื่องมือแก้ปัญหา. สถาบันพระปกเกล้า. นนทบุรี: สถาบัน
พระปกเกล้า.
สริมศักดิ์ วิศาลาภรณ์.
(2540). ความขัดแย้งการบริหารเพื่อความสร้างสรรค์. กรุงเทพมหานคร: บริษัท
ต้นอ้อ แกรมมี่ จำกัด.
สำนักระงับข้อพิพาท. (2550).
การจัดการความขัดแย้งกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท. กรุงเทพมหานคร: บริษัท
ธนาเพรส จำกัด.
อาริชย์อาริชย์ ทัศน์พันธุ์, พ.ต.ต. 2550. ความขัดแย้งในการปฏิบัติงานระหว่างหน่วยงาน:
กรมสอบสวนคดีพิเศษกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ. ดุษฎีนิพนธ์ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต
สาขารัฐประศาสนศาสตร์, มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
อัญชลี จุฬาพิมพ์พันธุ์. 2546. รายงานการวิจัยเรื่อง การบริหารความขัดแย้งในประเด็นต่าง ๆ
ของชุมชนที่นำไปสู่การพัฒนาความเข็มแข็งของชุมชน. มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์.
. (2552). วิกฤตการณ์การเมืองในประเทศไทย พ.ศ.
2548-2553. เข้าถึงเมื่อ 9 กรกฎาคม จากhttp://th.wikipedia.org/wiki, 9 กรกฎาคม
2553
Catherine Morris. (2004). Managing Conflict in Health Care Setting.
นนทบุรี: สถาบันพระปกเกล้า.